Custom Search

เกิดอะไรกันแน่ที่ “ทังกัสกา” ปริศนากว่าศตวรรษยังคงคาใจ??2

กระทั่งเมื่อ 2470 ลีโอนิด กูลิก (Leonid Kulik) ผู้เชี่ยวชาญด้านอุกกาบาตชาวรัสเซียได้นำทีมสำรวจพื้นที่เพื่อค้นหาร่องรอยที่เหลือ แต่เขาก็ล้มเหลวในการค้นหาหลุมที่เกิดจากการชน

หลังจากนั้นทีมสำรวจในอีก 33 ปีก็ยังคงล้มเหลวในการค้นหาหลุมอุกกาบาต นักวิทยาศาสตร์จึงเผชิญกับความลึกลับของเหตุการณ์ทังกัสกาที่สร้างความเสีย มากกว่าสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับไม่ทิ้งร่องรอยไว้

อีกทั้งเมื่อทศวรรษก่อน นักวิจัยหลายคนคาดเดาว่า อุกกาบาตที่พุ่งชนโลกนั้นน่าจะมีความกว้างราวๆ 30 เมตร และมีมวล 560,000 ตัน แต่การจำลองด้วยคอมพิวเตอร์ล่าสุดบ่งชี้ว่า อุกกาบาตที่เป็นสาเหตุของความเสียหายใหญ่โตนี้มีขนาดเล็กกว่าที่เคยคาดไว้ มาก

มาร์ก บอสลาฟ (Mark Boslough) นักฟิสิกส์จากห้องปฏิบัติการแซนเดียแห่งสหรัฐฯ ในอัลบูเคอร์คิว (Sandia National Laboratory in Albuquerque) นิวเม็กซิโก พร้อมด้วยคณะระบุว่า อุกกาบาตแห่งทังกัสกานี้น่าจะเล็กกว่าที่เคยคาด 3-4 เท่า และมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20 เมตร

“เมื่อ อุกกาบาตระเบิดหลังจากพุ่งเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก บอสลาฟและคณะคำนวณว่าจะเกิดก๊าซที่ร้อนยิ่งยวด และมีความเร็วเหนือเสียง ลูกไฟที่เกิดขึ้นเป็นสาเหตุของคลื่นระเบิดที่สร้างความเสียหายรุนแรงกว่าที่ เคยคิดกัน” สเปซดอตคอมรายงานสิ่งที่บอสลาฟและคณะคำนวณได้

บางทฤษฎีว่า การระเบิดในทุ่งทังกัสกานั้นน่าจะเกิดขึ้นจากใต้แผ่นดินนี่เอง โดยโวล์ฟกัง คุนด์ท (Wolfgang Kundt) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยบอนน์ (University of Bonn) ในเยอรมนี และนักวิทยาศาสตร์บางส่วนแสดงความเห็นว่า เปลวไฟซึ่งสว่างถึงขั้นที่ชาวลอนดอน สามารถอ่านหนังสือในย่ามค่ำคืนได้อย่างสบายๆ นั้นน่าจะเกิดจากการปะทุของก๊าซธรรมชาติในคิมเบอร์ไลต์ (kimberlite) หินภูเขาไฟซึ่งรู้จักกันดีว่าบางครั้งเราอาจพบเพชรในหินชนิดนี้

“อาจ เกิดจากของเหลวภายในโลกซึ่งอยู่ลึกลงไป 3,000 กิโลเมตร ก๊าซธรรมชาติถูกกักเก็บไว้ในรูปของเหลว และเมื่อสัมผัสอากาศก็กลายเป็นก๊าซที่มีปริมาตรเพิ่มขึ้นเป็นพันเท่า แล้วเกิดระเบิดครั้งใหญ่ขึ้น” คุนด์ทกล่าว และเพื่อสนับสนุนแนวคิดนี้เขาได้อ้างถึงลักษณะของต้นไม้และสารเคมีที่ผิดปกติ

อีกทฤษฎีที่น่าสนใจซึ่งบีบีซีนิวส์รายงานไว้ คือ อุกกาบาตที่ถล่มทังกัสกาอาจเป็นชิ้นส่วนของดาวหางเองเค (Encke) ซึ่งสายธารฝุ่นของดาวหางดวงนี้ ทำให้เกิดฝนดาวตกเบตาทอริดส์ (Beta Taurids) ระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค.ของทุกปี และเป็นช่วงเดือนใกล้เคียงกับที่เหตุการณ์ทังกัสกา และหากมีหลุมขนาดใหญ่สักแห่งก็จะนำไปสู่ทฤษฎีใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ทังกัสกาได้

อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2550 จูเซปเป ลองโก (Giuseppe Longo) และคณะจากมหาวิทยาลัยโบโลญญา (University of Bologna) อิตาลี ระบุว่าพวกเขาอาจพบบางสิ่งที่กูลิกได้พลาดไปเมื่อหลายปีก่อน โดยทะเลสาบเชกโก (Lake Cheko) นั้นไม่เคยปรากฏอยู่ในแผนที่มาก่อนปีที่เกิดเหตุการณ์ทังกัสกาเลย อีกทั้งตำแหน่งของทะเลสาบยังอยู่กึ่งกลางทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางที่อุกกาบาตลึกลับตกสู่โลก

ตามข้อมูลจาก ดร.ลองโก ระบุว่า สัญญาณเรดาร์นั้นแสดงให้เห็นถึงวัตถุที่มีความหนาแน่นสูงอยู่ก้นทะเลสาบ โดยฝังลึกลงไป 10 เมตร ซึ่งเป็นไปได้ว่าอาจเป็นส่วนหนึ่งของอุกกาบาตที่ถล่มทังกัสกา และทีมของเขาก็เตรียมทำการสำรวจพื้นที่ดังกล่าวในปี 2552 เพื่อหาความเป็นไปได้ในข้อสันนิษฐานดังกล่าว

ปัจจุบันมีข้อทฤษฎีต่อเหตุการณ์มาทังกัสกามากกว่า 20 ข้อ บ้างก็ว่ามาจากจานบินลึกลับ ปฏิสสาร วันสิ้นโลกและหลุมดำ แต่ก็ไม่มีทฤษฎีใดที่มีหลักฐานชี้ชัด ซึ่งเมื่อปลายเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์จากทั่วรัสเซียก็ได้รวมตัวกันเพื่อถกเถียงเรื่องนี้ในการ ประชุมว่าด้วยเรื่องทังกัสกาโดยเฉพาะ และมีการใช้เทคโนโลยีทางคอมพิวเตอร์มากกว่าเทคนิคดั้งเดิม เพื่อหาสาเหตุที่ทำลายพื้นที่ไซบีเรียอันห่างไกล แต่ก็ยังไม่มีข้อสรุปใดๆ ออกมา

อ่านต่อ
อ่านต้นเรื่องใหม่

0 ความคิดเห็น: